เตรียมพร้อมเลือกตั้ง อบจ. วันที่ 1 ก.พ. 2568 เช็กช่องทางตรวจสอบหน่วยเลือกตั้ง ไปใช้สิทธิ์ไม่ได้ต้องทำยังไง ตรวจสอบครบที่นี่
กลับมาอีกครั้งกับวาระกำหนดอนาคตท้องถิ่น สำหรับ การเลือกตั้งนายก อบจ. และ ส.อบจ. ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 08.00 น. ถึง 17.00 น. โดยมีเรื่องที่น่ารู้ ดังต่อไปนี้
การเลือกตั้ง อบจ. คืออะไร
การเลือกตั้ง อบจ. เป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นของแต่ละจังหวัด เนื่องจาก อบจ. มีบทบาทหลักในการจัดสรรงบประมาณและบริหารโครงการพัฒนาต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยตรง ดังนั้นจึงเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการเลือกผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์และความสามารถในการขับเคลื่อนพื้นที่ของตนเอง
ภาพจาก กกต.
การตรวจสอบสิทธิ์ และหน่วยเลือกตั้ง
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ได้จัดให้มีระบบออนไลน์สำหรับตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยเลือกตั้งของตนเอง ผ่านช่องทางออนไลน์ ตามขั้นตอนต่อไปนี้
1. เข้าเว็บไซต์ สำนักบริหารการทะเบียน
2. ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การเลือกตั้งท้องถิ่น
3. กรอกเลขบัตรประชาชน 13 หลัก
4. ระบบจะแสดงผลการตรวจสอบ ชื่อ-นามสกุล และ สถานที่เลือกตั้ง
ภาพจาก กกต.
กรณีลูกจ้างต้องทำงาน วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โดยกระทรวงแรงงาน ได้ออกประกาศ ขอความร่วมมือนายจ้างสถานประกอบกิจการ อนุญาตให้ลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบกิจการ ซึ่งมีหน้าที่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งฯ เดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งสมาชิกสภาบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ณ หน่วยเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีชื่ออยู่ โดยไม่ถือเป็นวันลาหรือวันหยุด โดยกำหนดให้ลูกจ้างสามารถหยุดงานหรือปรับเวลาทำงานเพื่อไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตามกฎหมายเลือกตั้ง
พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 มาตรา 117 กำหนดบทลงโทษ ผู้บังคับบัญชาหรือนายจ้างหากขัดขวาง หน่วงเหนี่ยว หรือไม่ให้ความสะดวกผู้ใต้บังคับบัญชาหรือลูกจ้างให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยไม่มีเหตุอันสมควร มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากนายจ้างหรือผู้บังคับบัญชาไม่อำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างไปใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่มีเหตุจำเป็น อาจเข้าข่ายกระทำความผิดและมีโทษทางกฎหมายนี้เช่นกัน
กรณีไม่สามารถไปเลือกตั้ง อบจ. 2568 ได้
1. แจ้งผ่านช่องทางออนไลน์ เว็บไซต์
– เข้าเว็บไซต์ สำนักบริหารการทะเบียน
– เลือก แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งการเลือกตั้งท้องถิ่นทางอิเล็กทรอนิกส์
– กรอกเลขประจำตัวประชาชน, เลขรหัสกำกับบัตร (เลขหลังบัตรประจำตัวประชาชน), ชื่อ, วันเดือนปีเกิดที่ปรากฏในบัตรประชาชน
– แจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่ได้เลือกตั้ง อบจ. 2568
คำแนะนำ การแจ้งเหตุจำเป็นไม่อาจไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ทางอิเล็กทรอนิกส์
1. เป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้งของการเลือกตั้งแต่ละประเภทการเลือกตั้ง
2. ต้องแจ้งเหตุในช่วงระยะเวลาที่กำหนด
2.1 ก่อนการเลือกตั้ง 7 วัน
2.2 หรือภายใน 7 วันนับหลังวันเลือกตั้ง
2. แจ้งผ่านแอปพลิเคชัน Smart Vote
– กดเข้าแอปพลิเคชัน Smart Vote
– เลือกเมนู “เลือกตั้งท้องถิ่น”
– เลือกเมนู “ตรวจสอบสิทธิเลือกตั้ง”
– หากมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่สามารถไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ให้ไปที่เมนู “การแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์”
– ระบบจะพาเข้าสู่หน้าเว็บไซต์ของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
– ผู้ใช้งานจะต้องกรอกเลขบัตรประชาชน ชื่อ-นามสกุล และวันเดือนปีเกิด เพื่อดำเนินการต่อ
3. แจ้งด้วยตนเอง หรือ ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ลงทะเบียนแจ้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่น
– ใช้แบบฟอร์ม ส.ถ./ผ.ถ. 1/8 หรือ ทำเป็นหนังสือระบุเลขประจำตัวประชาชนและที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน ต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน โดยสามารถไปแจ้งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นไปยื่นแทน หรือจัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
*** ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ส.ถ./ผ.ถ. 1/8 (คลิก
ที่นี่)
ภาพจาก กกต.
ภาพจาก กกต.
เหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
– มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
– เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้
– เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้
– เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
– มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
– ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง
– มีเหตุสุดวิสัยหรือเหตุอื่นที่ กกต. กำหนด
กำหนดเวลาแจ้งเหตุไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งนายก อบจ. 2568
– ก่อนวันเลือกตั้ง 7 วัน ( 25 -31 มกราคม 2568)
– หลังวันเลือกตั้ง 7 วัน (2-8 กุมภาพันธ์ 2568 )
ผลกระทบหากไม่ไปเลือกตั้ง อบจ. 2568 โดยไม่แจ้งเหตุ
1. ไม่สามารถสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ./ผถ.) หรือสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (สว.)
2. ไม่สามารถสมัครรับเลือกเป็นกำนันและผู้ใหญ่บ้าน
3. ไม่สามารถเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (สถ./ผถ.)
4. ไม่สามารถดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง
5. ไม่สามารถดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น
*** ทั้งนี้ การถูกจำกัดสิทธิ กำหนดเวลาครั้งละ 2 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง
ขอบคุณข้อมูลจาก ThaiPBS, ThaiPBS, รัฐบาลไทย