โรงพยาบาลพระราม 9 ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า นิ่วในถุงน้ำดี (Gall Stone) เป็นโรคที่เกิดจากการตกตะกอนของสารต่าง ๆ ในน้ำดี ทำให้เกิดนิ่วขึ้นที่ถุงน้ำดี ผู้ป่วยอาจมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อย ๆ โดยเฉพาะเวลากินอาหารประเภทไขมัน (แต่ก็มีกรณีที่ไม่แสดงอาการ) สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีและนิ่วออก
ในช่วงแรกที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี บางคนอาจจะยังไม่แสดงอาการอะไร หรือมีอาการ แต่ไม่ทราบว่าเป็นนิ่วและไม่ได้ไปตรวจ แต่เมื่อผ่านไปนานวันเข้า นิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือสะสมเพิ่มจำนวนขึ้น จึงเริ่มมีอาการในช่วงแรก ถ้ายังไม่รุนแรงมาก มักจะเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่กินอาหารที่มีไขมันสูงเข้าไป ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดอาการบวมตึงในถุงเพราะการคั่งของของเหลว มีลักษณะอาการที่สังเกตได้ ดังนี้
– แน่นท้อง ท้องอืด มีลมมาก
– ปวดจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ และอาจปวดร้าวไปบริเวณสะบักขวา
– อาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย
– ข้อสังเกตคือ มักจะมีอาการหลังกินอาหารมัน ๆ หรือช่วงเวลากลางคืน และมักจะเป็นอยู่ 1-2 ชั่วโมงก็หาย และขณะมีอาการ ผู้ป่วยจะยังพอขยับตัวได้
โดยทั่วไปพบว่า หากเริ่มมีอาการแล้ว ก็มักจะเป็นต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น (เนื่องจากก้อนนิ่วมักไม่ได้หายไปไหน มีแต่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ) เมื่อเริ่มมีก้อนนิ่วภายในถุงน้ำดีแล้ว มีโอกาสเกิดภาวะถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute Cholecystitis) ได้ทุกเมื่อ ซึ่งจะมีอาการรุนแรงกว่า โดยสามารถสังเกตได้ ดังนี้
– มีอาการปวด จุกแน่น เหมือนอาการที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่มีอาการยาวนาน 4-6 ชั่วโมงแล้วยังไม่หาย
– มีอาการปวดท้องแบบรุนแรง หรือปวดจุกเสียดรุนแรงบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา
– มีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
– ปัสสาวะเหลืองเข้ม หรืออุจจาระสีซีด
– เป็นไข้ มีอาการหนาวสั่น (ร่วมกับอาการข้างต้น)
– คลื่นไส้ อาเจียน (ร่วมกับอาการข้างต้น)
– สัญญาณของการเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี คือมีอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย อาเจียนปวดท้องอย่างรุนแรงบริเวณช่วงท้องส่วนบนด้านขวา โดยปวดต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นต้น
ข้อสังเกตคือ ผู้ป่วยแทบจะขยับตัวไม่ได้เลย เพราะจะปวดมาก และถ้าหากพบว่ามีอาการดังกล่าวแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน